Back

ปลาหมอคางดำ จัดการยังไง ทำเมนูไหนดี

ปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์สุดอันตราย ขยายพันธุ์ไว ทนได้ทุกสภาวะ ดังนั้นต้องรีบจัดการ ด้วยวิธีแบบคนไทย “กินแซ่บเท่านั้น”

ปลาหมอคางดำเป็นปลาน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอเทศหรือปลาหมอสี แต่บริเวณใต้คางมีสีดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sarotherodon melanotheron Ruppell จัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae เมื่อโตเต็มวัย จะมีขนาดยาวถึง 8 นิ้ว หรือมากกว่านั้น

ปลาหมอคางดำ
ขอบคุณภาพจาก: The Citizen.Plus

ปลาหมอคางดำ มีที่มายังไง

มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกา นิยมอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อย ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีการนำเข้าปลาสายพันธุ์ดังกล่าวไปยังหลายทวีปทั่วโลก รวมถึงทวีปเอเชีย และในประเทศไทย โดยได้มีการเปิดไทม์ไลน์การนำเข้ามาที่ไทยดังนี้

พ.ศ. 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) อนุญาตให้บริษัทนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล

พ.ศ. 2553 บริษัทได้นำปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว มาเลี้ยงที่ จ.สมุทรสงคราม โดยระบุว่าตายเกือบทั้งหมดและได้ทำการกำจัดทิ้งแล้ว

พ.ศ. 2555 เกษตรกรชาวสมุทรสงครามพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

พ.ศ. 2561 กรมประมงได้แก้ไขประกาศกระทรวงฯ ห้ามนำเข้าปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ ใครฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย

ปลากหมอคางดำ
ขอบคุณภาพจาก: The Citizen.Plus

ปลาหมอคางดำ กับการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

ปลาหมอคางดำมีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ที่สำคัญคือส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากทนต่อความเค็มได้สูง ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เนื่องจากปลาหมอคางดำเพศเมีย 1 ตัว มีไข่ประมาณ 50-300 ฟอง หรือมากกว่านั้น ใช้เวลาตั้งท้องเพียง 22 วัน ใช้เวลาฟักไข่ในปากเพศผู้เพียง 4-6 วัน ก่อนจะดูแลตัวอ่อนประมาณ 2-3 สัปดาห์ไว้ในปากเช่นเดิม ส่งผลให้อัตราการรอดสูงกว่าปกติ และสามารถผสมพันธุ์ได้ทุกฤดูกาล

ปลาหมอคางดำอัตรายต่อระบบนิเวศ

ขอบคุณภาพจาก: The Citizen.Plus

ปลาชนิดนี้มักจะแย่งอาหารและพื้นที่อยู่อาศัยกับปลาท้องถิ่น ทำให้ปลาท้องถิ่นหลายชนิดมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไปในที่สุด และการเพิ่มขึ้นของประชากรปลาหมอคางดำทำให้สมดุลของระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและคุณภาพน้ำ นอกจากนี้การลดลงของจำนวนปลาท้องถิ่นส่งผลกระทบต่อการประมงและเศรษฐกิจของชุมชนที่พึ่งพาแหล่งน้ำ จากที่ชาวประมงจะจับปลาเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก กลับถูกแทนที่ด้วยปลาหมอคางดำ

เอเลี่ยนสปีชีส์ ต้องจับตายเท่านั้น

ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้มีการโพสต์ ประกาศจับตายผมขอเชิญชวนนักล่าทั้งหลายจับตายปลาหมอคางดำ โดยมีเงินรางวัลนำจับ กิโลกรัมละ 15 บาท โดยการยางแห่งประเทศไทย ตั้งจุดรับซื้อทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด (จับตายเท่านั้น) เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป

ขณะที่ร้านอาหาร และชาวบ้านที่จับได้ บางคนก็นำมาประกอบอาหาร “กินแซ่บ” กันเลยก็ว่าได้ ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาการระบาดของคนไทยของแท้ 

เมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ

ปลาหมอคางดำสามารถนำมาประกอบอาหารได้เหมือนกับเมนูปลาทั่ว ๆ ไป ซึ่งก็มีหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น 

1. ปลาหมอคางดำเผาเกลือ

2. ปลาหมอคางดำทอดเกลือ

3. น้ำปลาแท้จากปลาหมอคางดำ

4. ฉู่ฉี่ปลาหมอคางดำ

5. คั่วกลิ้งเนื้อปลาหมอคางดำ

6. ต้มยำปลาหมอคางดำ

7. ขนมจีนน้ำยาเนื้อปลาหมอคางดำ

8. ทอดมันเนื้อปลาหมอคางดำ

9. ปลาหมอคางดำแดดเดียว

10. ขนมปั้นขลิบไส้ปลาหมอคางดำ

ฯลฯ

ใครมีเมนูไหนน่าสนใจลองมาแนะนำกันได้ หรือใครเคยลองทานเมนูปลาหมอคางดำแล้วมาบอกกันหน่อยน้า ว่ารสชาติเป็นยังไง อร่อยรึเปล่า?

ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่

Facebook: ECOLIFE
Website: คิดคิด / ECOLIFE

KIDKID
KIDKID

This website stores cookies on your computer. Cookie Policy